
ข่าวสาร
15 มีนาคม 2566
การลดต้นทุนการผลิตเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ได้รับความสนใจในหลายภาคส่วน เนื่องจากเป็นกระบวนการที่สามารถช่วยเพิ่มรายได้ด้วยการลดรายจ่ายให้กับผู้ผลิต สำหรับภาคเกษตรกรรม ปุ๋ยถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเกษตร เพราะมีผลต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร กล่าวคือ หากเกษตรกรใส่ปุ๋ยได้เพียงพอกับความต้องการของพืช จะส่งผลให้พืชเจริญเติบโตดี แต่หากใส่ปุ๋ยในปริมาณที่มากเกินไป จะส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้หากเกษตรกรไม่สามารถผลิตปุ๋ยได้เอง ปริมาณการใช้ปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น หากเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยได้เองจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรได้ เช่น การผลิตปุ๋ยจากแหนแดง แหนแดงคืออะไร แหนแดง (Azolla spp.) เป็นเฟิร์นน้ำขนาดเล็กพบอยู่ทั่วไปบริเวณน้ำนิ่ง มีคุณสมบัติเป็นทั้งปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยชีวภาพ และอาหารสัตว์ เนื่องจากในใบของแหนแดงมีสาหร่ายสีเขียวแกรมน้ำเงิน (Cyanobacteria) อาศัยอยู่ (รูปที่ 1) ซึ่งสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ทำให้แหนแดงเจริญเติบโตได้เร็วและมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูง (วิเชียร ฝอยพิกุล, 2548; ศิริลักษณ์ แก้วสุรลิขิต, 2561) แหนแดงสามารถสลายตัวได้ง่ายและปลดปล่อยไนโตรเจนและธาตุอาหารพืชอื่นๆ ออกมาได้เร็ว (กมลวรรณ ศรีปลั่ง, 2554) จากคุณสมบัติดังกล่าวจึงมีการนำแหนแดงแห้งมาใช้เป็นแหล่งธาตุไนโตรเจนให้กับผักโดยเฉพาะผักรับประทานใบและลำต้น แหนแดงมีดีอะไร ไนโตรเจนเป็นธาตุอาหารที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช โดยเฉพาะพืชรับประทานใบ เช่น คะน้าฮ่องกง ผักกาดเขียวกวางตุ้ง เนื่องจากธาตุไนโตรเจนส่งเสริมการเจริญเติบโตของยอดอ่อน ใบและกิ่งก้าน หากขาดธาตุอาหารดังกล่าว จะทำให้พืชเติบโตโตช้า ใบจะมีสีเหลือง (คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา, 2544) แหล่งไนโตรเจนที่เกษตรกรนิยมใช้มีทั้งปุ๋ยอนินทรีย์ที่ได้จากจากสารเคมีสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์